วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทำสิ่งที่สำคัญก่อน

กินกบตัวนั้นซะ --- ทำสิ่งที่สำคัญก่อน วันนี้เลย Eat That Frog


หนังสือเรื่อง "กินกบตัวนั้นซะ" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้เวลาอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด เพราะ คนเราไม่มีเวลา พอที่จะทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ วิธีการบริหารเวลา จากคนที่ ประสบความสำเร็จ เขาจะไม่พยายามทำทุกสิ่ง แต่จะมุ่งความสนใจ ไปยังงานที่สำคัญที่สุดก่อน และทำมันเป็นอันดับแรก
"กินกบตัวนั้นซะ" เป็นการอุปมาให้เห็นภาพว่าหากสิ่งแรกที่คุณจะทำในแต่ละเช้า คือ การกินกบเป็นๆ ตัวหนึ่งซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของวันนั้นแล้ว แต่ถ้าคุณรีบกินมันเสีย อย่างน้อยคุณจะได้ ภาคภูมิใจว่า คุณจะสามารถผ่านพ้นวันนั้นไปได้ด้วยดี เพราะคงไม่มีอะไรเลวร้ายมากไปกว่านี้อีกแล้ว เปรียบเหมือนกับ การรีบจัดการงานที่ท้าทายที่สุด ในแต่ละวันของคุณ ที่คุณเห็นว่า มันยากและพยายาม ผัดวันประกันพรุ่งไปทำวันอื่น โดยลืมนึกไปว่า บางทีสิ่งนั้นอาจมีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อชีวิตของคุณ
สิ่งสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ ย้ำอยู่เสมอไม่ใช่ให้ยึดเพียงหลักการ แต่เป็นการลงมือปฏิบัติจริงอย่างเคร่งครัด เพื่อจัดระเบียบ และหาวิธีที่จะลงเอยกับงานที่สำคัญยิ่งเหล่านี้ เพื่อให้ไม่เพียงทำงานได้เร็วขึ้น แต่ได้ทำงานที่ใช่เลยอีกด้วย
ต่อไปนี้คือบทสรุปของวิธีที่ยิ่งใหญ่ 21 วิธี ในการเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง ซึ่งคุณจำเป็นต้องทบทวนหลักการนี้เป็นประจำ จนกว่ามันจะฝังลึกในความคิด และการกระทำของคุณ
1. จัดโต๊ะ : ก่อนที่จะตัดสินใจว่ากบตัวไหนเป็น "กบ" ของคุณและลงมือกินมัน คุณต้องตัดสินใจให้ชัดเจนว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่คุณต้องการเอาชนะ หลังจากตัดสินใจได้แล้วอย่าลืมจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง กำหนดเส้นตายในการทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ และลงมือทำตามแผนนั้นทันที
2. วางแผนทุกวันไว้ล่วงหน้า : เชื่อหรือไม่ว่าทุก 1 นาทีที่คุณใช้ในการวางแผนจะช่วยให้ประหยัดเวลาได้มากถึง 10 นาทีในการลงมือปฏิบัติ และขณะที่คุณทำงานตามรายการที่ได้วางแผนไว้ คุณจะรู้สึกว่าทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีแรงบันดาลใจ ให้ทำงานมากขึ้นไปอีก
3. ใช้กฎ 80/20 กับทุกอย่าง : บางครั้งงานในส่วน 20 % นั้น อาจเป็นงานที่มีคุณค่ามากกว่างานอีก 80 % ที่เหลือรวมกัน ดังนั้นจึงควรเลือกทำงานมีผลต่อชีวิตและอาชีพการงานของคุณและให้เวลากับงาน ที่มีค่าต่ำน้อยลง
4. พิจารณาถึงผลที่จะตามมา : งานที่สำคัญคืองานที่มีผลต่อคุณในระยะยาว ดังนั้นก่อนที่จะลงมือทำอะไรควรถามตัวเองก่อนว่า "กิจกรรมหรือโครงการไหนที่ถ้าฉันทำได้ดีและทำได้ทันจะมีผลกระทบในด้านบวกต่อ ชีวิตของฉัน"
5. ฝึกวิธี ABCDE อย่างต่อเนื่อง : ก่อนเริ่มลงมือทำงานตามรายการ จงใช้เวลาครู่หนึ่งในการจัดลำดับความสำคัญของงาน โดยให้งาน "A" คือ งานที่สำคัญที่สุดของคุณ งาน B, C, D, E คืองานที่สำคัญรองลงมา
6. เน้นที่หัวใจของงาน : ถามตัวเองว่า "ทำไมองค์กรถึงจ้างฉัน" นั่นคือการรู้ว่าหัวใจสำคัญของงานคุณคืออะไรและตั้งใจทำให้ดีที่สุด
7. เชื่อฟังกฎแห่งประสิทธิภาพโดยความจำเป็น : คุณไม่มีเวลาพอที่จะทำทุกอย่าง แต่มีเวลาเสมอที่จะทำสิ่งที่สำคัญที่สุด
8. เตรียมพร้อมอย่างรอบคอบก่อนเริ่มลงมือ : การเตรียมการล่วงหน้าที่เหมาะสมเป็นการป้องกันความล้มเหลวของงาน
9. ทำการบ้านของคุณ : จงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะยิ่งคุณรอบรู้และชำนาญในงานที่เป็นหัวใจสำคัญมากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำงาน นั้นให้แล้วเสร็จได้เร็วขึ้นเท่านั้น
10. ใช้พรสวรรค์ของคุณเป็นอำนาจสู่ความสำเร็จ : พิจารณาให้ชัดเจนว่าคุณถนัดหรือมีพรสวรรค์ในงานอะไรหรือทำงานอะไรได้ดี แล้วก็ทุ่มเทให้กับงานนั้น ๆ อย่างเต็มที่
11. มองหาตัวเหนี่ยวรั้งมิให้ทำงานที่สำคัญของคุณ : พิจารณาคอขวดหรือจุดสกัดทั้ง ภายในหรือภายนอกที่เป็นตัวกีดขวางในการบรรลุเป้าหมายสำคัญที่สุดของคุณ และตั้งอกตั้งใจทำให้มันบรรเทาเบาบางลง
12. เดินตามถังน้ำมันทีละใบ : คุณสามารถทำงานที่ใหญ่ที่สุดและสลับซับซ้อนมากที่สุด ให้ลุล่วงได้ถ้าคุณทำมันทีละขั้นตอน
13. สร้างแรงกดดันให้กับตัวเอง : จงสมมติว่าคุณต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นเวลาหนึ่งเดือนและจงทำงานให้ เหมือนกับว่า คุณต้องทำงานสำคัญทั้งหมดของคุณให้แล้วเสร็จก่อนออกเดินทาง
14. เพิ่มอำนาจส่วนตัวของคุณให้สูงสุด : พิจารณาว่าช่วงเวลาไหนที่คุณมีพลังกายและพลังความคิดสูงที่สุดในแต่ละวัน แล้วทำงานที่สำคัญที่สุดของคุณในช่วงเวลานั้น
15. กระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ : จงเป็นเชียร์ลีดเดอร์ให้กับตัวคุณเอง มองหาแต่สิ่งดี ๆ ในทุกสถานการณ์ มองโลกในแง่ดีและสร้างสรรค์อยู่เสมอแม้ในขณะที่มีปัญหา
16. ฝึกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งในทางสร้างสรรค์ : เนื่องจากคุณไม่สามารถทำทุกอย่างได้ จึงต้องเรียนรู้ที่จะผัดผ่อนงาน ที่มีค่าต่ำ ออกไปก่อน เพื่อจะได้มีเวลาพอในการทำสิ่งที่สำคัญจริง ๆ
17. ทำงานที่ยากที่สุดก่อน : เริ่มต้นแต่ละวันด้วยงานที่ยากที่สุดก่อน และจงตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะทำมันจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์
18. แล่และหั่นงานเป็นชิ้นเล็ก ๆ : แบ่งงานใหญ่ที่ซับซ้อนลงเป็นงานย่อยๆ แล้วเริ่มลงมือทำ ทีละชิ้น
19. สร้างเวลาชิ้นโต : แบ่งวันของคุณออกเป็นช่วงเวลาใหญ่ ๆ ที่จะสามารถทุ่มเทสมาธิเป็นเวลานาน ๆ ให้กับงานที่สำคัญที่สุด
20. สร้างสำนึกแห่งความเร่งรีบ : สร้างนิสัยเสือปืนไวในงาน โดยทำตัวให้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ทำงานทุกอย่างได้เร็วและทำได้ดี
21. ทำงานทุกอย่างทีละอย่าง : จัดลำดับความสำคัญให้ชัดเจน เริ่มต้นทำงานที่สำคัญที่สุดก่อนทันที แล้วทำไม่หยุด จนกระทั่งงานเสร็จสมบูรณ์ 100 %
ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับที่แท้จริงสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สูงสุด ดังนั้น จงตัดสินใจที่จะฝึกหัดหลักการเหล่านี้ทุก ๆ วันจนกว่ามันจะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวคุณ ถ้าคุณติดนิสัยการบริหารเหล่านี้จนมันกลายเป็นบุคลิกที่ถาวรอย่างหนึ่งของ คุณแล้วละก็ อนาคตของคุณจะต้องกว้างไกลไร้ขีดจำกัดอย่างแน่นอน

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้ในการพัฒนาตน(3)

 เทคนิคการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก

เทคนิคการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก มีหลายเทคนิค ในที่นี้เสนอเพียง 2 เทคนิค คือ
1. เทคนิคการวิเคราะห์ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ความรู้สึกกับความคิดและพฤติกรรม
อารมณ์ความรู้สึกของบุคคล มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความคิดและพฤติกรรม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลง อารมณ์ความรู้สึก จึงสามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม เมื่อบุคคลเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีผลให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกทางลบ มีวิธีจัดการเพื่อ เปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก โดยมีขั้นตอนดังนี้
 (1) ขั้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม
1.1 ระบุข้อมูลของเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกทางลบ ตามสภาพการณ์ที่ปรากฏ โดยใช้หลัก ใคร ทำอะไร ที่ไหน และ เมื่อไร เช่น "เมื่อบ่ายวันนี้ ฉันเห็นเขาเดินกับผู้หญิง คนหนึ่งที่หน้าห้องสมุด"
1.2 ความคิดหรือความเชื่อที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น "เขาคงเปลี่ยนใจจากฉันไปชอบผู้หญิงคนนั้นเสียแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับเขาคงต้องสิ้นสุดลงแน่แล้ว"
1.3 อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการตีความเช่นนั้น เช่น "เสียใจ น้อยใจ กังวล"
 (2) ขั้นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก
ขั้นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก เป็นการโต้แย้งกับความคิด ที่ไม่ถูกต้องหรือความเชื่อผิด ๆ ของตนเอง โดยมีขั้นตอนดังนี้
2.1 นำความคิดหรือความเชื่อที่บั่นทอนอารมณ์ความรู้สึกของตนเองมาแยกออก
เป็น 2 ส่วนที่สำคัญ คือ ความคิดที่เป็นการตีความเหตุการณ์ และความคิดที่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า มาวิเคราะห์ เช่น
ความคิดตีความ: " เขาเดินกับผู้หญิงคนอื่น เขาคงเปลี่ยนใจไปชอบคนอื่นแทนเราแล้ว"
การคาดการณ์ล่วงหน้าในทางเลวร้าย : "ความสัมพันธ์ระหว่างฉันกับเขาคงจะต้องสิ้นสุดลงแน่แล้ว"

2.2 วิเคราะห์ความคิดตนเองว่าเป็นความจริง ถูกต้องแน่หรือไม่ มีหลักฐาน เพียงพอให้สรุปความเช่นนั้นหรือไม่มีโอกาสที่ความคิดของเราผิดพลาดได้หรือ ไม่ สิ่งที่คิดอาจเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ เช่น "เราเพียงเห็นเขาเดินกับผู้หญิงอื่น และก็ไม่เห็นท่าทีที่เขาสองคนสนิทกัน มากกว่าการเป็นเพื่อน ความคิดแบบนี้ทำลายอารมณ์ตนเองเปล่า ๆ "

 2.3 การเปลี่ยนความคิดใหม่ ด้วยการใช้ความคิดที่ใช้เหตุใช้ผล โดยคิด ความเป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ และไม่ด่วนสรุปโดยไม่มีหลักฐาน เช่น
" ฉันยังไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขากับผู้หญิงคนนั้นการที่ คิดว่าเขาไปชอบคนอื่นเสียแล้วนั้นเป็นการด่วนสรุปเกินไปของเรา เขาอาจเป็นเพียงเพื่อนกันก็ได้ ฉันจะต้องดูเหตุการณ์ต่อไปก่อนหรือไม่ก็จะลองถามเขาดูว่าผู้หญิงคนนั้นคือ ใคร"

2.4 ฝึกเปลี่ยนความคิด ตามวิธีการข้อ (2.3) เพื่อให้ความคิดที่ใช้เหตุใช้ผลและ การคิดแบบสมดุลที่มีทั้งทางบวกและทางลบและไม่ด่วนสรุปโดยไม่มีข้อมูลแน่ชัด เช่นนี้ จะได้คงอยู่ต่อไปและสามารถทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ

2. เทคนิคการผ่อนคลาย (Relaxation)
การผ่อนคลาย เป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ในการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ความรู้สึกทางลบ เช่น ความรู้สึกกังวล เศร้า เสียใจ สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
1. การผ่อนคลายด้วยการหายใจเข้า-ออกลึก ๆ จนกว่าอารมณ์ผ่อนคลาย
2. การทำสมาธิแบบต่าง ๆ
3. การทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เพลิดเพลิน เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ปลูกต้นไม้ หรือ ชมธรรมชาติ เป็นต้น

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้ในการพัฒนาตน(1)

เทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้ในการพัฒนาตน

เทคนิคและวิธีการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมกับพฤติกรรมเป้าหมายของตนเองได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. เทคนิคการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง ซึ่งแบ่งเป็นเทคนิคย่อย 2 ประเภท คือ เทคนิคการจัดการควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus Control) และเทคนิคการจัดการให้ผลกรรมตนเอง (Consequence Control)
2. เทคนิคการเปลี่ยนแปลงความคิด (Changing Cognition) เป็นเทคนิคและวิธีการที่ ใช้สำหรับการพัฒนาตนทางด้านความคิด
3. เทคนิคการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึก (Changing Affect) เป็นเทคนิคและวิธีการ ที่ใช้สำหรับ พัฒนาตนทางด้านอารมณ์ความรู้สึก
4. เทคนิคที่ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินผลพฤติกรรมเป้าหมาย เทคนิค การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง ได้แก่ การเฝ้าติดตามดูตนเอง (Self-Monitoring) การประเมิน ตนเอง (Self-Assessment / Self-Evaluation) และการวิเคราะห์ตนเอง (Self-Analysis)

เทคนิคที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้
1.1 เทคนิคการควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus Control)
การควบคุมสิ่งเร้าในการพัฒนาตน หมายถึง การที่บุคคลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง โดยจัดการกับเปลี่ยนแปลงสิ่งเร้า ในสภาพแวดล้อมของตนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ ก่อนที่จะมีการลงมือกระทำพฤติกรรมนั้น ซึ่งมีเทคนิคดังนี้
(1) กำจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ที่ทำให้ / กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ เช่น ในการลดน้ำหนัก เมื่อรู้ว่าการเก็บตุนขนม และอาหารสำเร็จรูปไว้ในห้องพักหรือในบ้าน ทำให้รับประทานอาหารมากเกินพอดี ดังนั้น การกำจัดสิ่งเร้า ทำได้โดยการไม่ซื้อขนมและอาหารเก็บไว้ในห้อง
(2) กำหนดสิ่งเร้าที่เฉพาะเจาะจง สำหรับการทำพฤติกรรมที่ต้องการ เช่น ในการลดน้ำหนัก เมื่อรู้ว่าเกิดจากการรับประทานบ่อยครั้ งเมื่ออยู่นอกบ้าน การกำหนดสิ่งเร้าให้เฉพาะเจาะจง ทำได้โดยการกำหนดให้เฉพาะเจาะจงว่า จะรับประทานอาหาร เฉพาะที่โต๊ะอาหาร ที่บ้าน หรือที่หอพักเท่านั้น
(3) การเปลี่ยนสิ่งเร้าเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม / ไม่ต้องการ เช่น ในการลดพฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เมื่อรู้ว่าตนเองชอบผ่อนคลายโดยการชอปปิ้งและจะต้องซื้อของที่ไม่จำเป็นติด มือเสมอ
การเปลี่ยนสิ่งเร้า ทำได้โดยการเปลี่ยนจากการผ่อนคลายในห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัดที่เต็มไปด้วย สิ่งของที่ชวนให้ซื้อ ไปเป็นการผ่อนคลายในสถานที่ธรรมชาติที่ไม่มีการซื้อ สิ่งของ เช่น ออกกำลังกายในสวนสาธารณะ สวนสุขภาพ สระว่ายน้ำ และโรงยิม เป็นต้น
1.2 เทคนิคการจัดการให้ผลกรรมตนเอง (Consequence Control)
การให้ผลกรรมตนเอง หมายถึง การที่บุคคลจัดการให้ผลกรรมหรือผลตอบแทน แก่ตนเองหลังจากที่ตนเองได้ทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์แล้ว เพื่อทำให้พฤติกรรมที่ต้องการเกิดขึ้น ต่อ ๆ ไปอีก
เทคนิคการให้ผลกรรมมีทั้งการเสริมแรงและการลงโทษ แต่ในการทำโครงการ พัฒนาตนนั้น ขอเสนอแนะให้ใช้การเสริมแรงมากกว่าการลงโทษ ยกเว้นในกรณีที่เจ้าตัวคิดว่า จำเป็นและตนเองสามารถลงโทษตนเองได้จริง ทั้งนี้เพราะการลงโทษก่อให้เกิดผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกถูกกดดัน เครียด โดยเฉพาะการลงโทษตนเองที่ทำด้วยตนเอง อาจทำให้เกิดความท้อแท้เมื่อทำพฤติกรรมเป้าหมายไม่ได้ และไม่อยากทำโครงการอีกต่อไป ทำให้โอกาสของการเลิกล้ม โครงการเสียกลางคันเป็นไปได้สูง ดังนั้นในการให้ผลกรรมต่อตนเอง จึงควรหาวิธีการให้ตัวเสริมแรง ซึ่งเป็นการให้สิ่งที่ทำให้ตนเองพอใจเมื่อสามารถทำได้ โดยตั้งระดับของพฤติกรรมเป้าหมายให้อยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้จริงเป็นระยะ ๆ แล้วอาจจะค่อย ๆ เพิ่มระดับความเข้มของพฤติกรรมเป้าหมายในระยะต่อไป ในที่นี้จึงขอเสนอการจัดการ ให้ผลกรรมตนเองด้วย เทคนิคการเสริมแรงตนเองเท่านั้น
(1) การเสริมแรงตนเอง หมายถึง การให้ผลกรรมหรือผลตอบแทนแก่ตนเองหลังจากที่ทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์แล้ว และมีผลทำให้ตนเองทำพฤติกรรมนั้นต่อไปอีก ซึ่งสิ่งที่เราให้แก่ตนเองแล้วมีผลทำให้เราทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก เรียกว่า ตัวเสริมแรง
(2) ประเภทของตัวเสริมแรง
ตัวเสริมแรงที่นำมาใช้ในการเสริมแรงตนเองได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปจะเป็นสิ่งที่ตัวเอ งชอบและมีความหมาย สำหรับตนเอง ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่บุคคล ซึ่งแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้
1. ตัวเสริมแรงที่เป็นสิ่งของ เช่น ของขวัญ ของใช้ เสื้อผ้า น้ำหอม ดอกไม้ และอาหาร
2. ตัวเสริมแรงภายใน เช่น ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกพอใจ ความรู้สึกภาคภูมิใจ
3. ตัวเสริมแรงที่เป็นกิจกรรม เช่น การว่ายน้ำ การออกกำลังกาย การสังสรรค์ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ซื้อของ ทัศนาจร

(3) วิธีการเสริมแรงตนเองที่มีประสิทธิภาพ
วิธีการเสริมแรงตนเองในการพัฒนาตนที่ได้ผลดี มีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. ต้องกำหนดเกณฑ์ไว้ให้ชัดเจนก่อนตั้งแต่ขั้นวางแผนว่า ตนเองจะได้รับอะไร เป็นผลตอบแทน เมื่อทำพฤติกรรมเป้าหมายอะไร และมากเท่าไร ตัวอย่างเช่น ต้องอ่านหนังสือทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมงได้ 1 สัปดาห์ แล้วจะไปดูภาพยนต์ 1 เรื่อง ซึ่งการกำหนดเกณฑ์นั้น อาจจะกำหนดเองหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้กำหนดให้ก็ได้
2. ต้องให้ทันทีที่สามารถทำพฤติกรรมพฤติกรรมเป้าหมายตามที่กำหนด จะทำให้ตนเองมีแรงจูงใจ กระตือรือร้น ที่จะทำพฤติกรรม เป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก แต่ถ้ายืดเวลาการให้แรงเสริมหรือรางวัลหลังทำพฤติกรรมเป้าหมายไปนานแล้ว จะทำให้แรงจูงใจ ในการทำพฤติกรรมนั้นอีก ลดลงได้
3. ต้องให้ในปริมาณที่เหมาะสม การให้รางวัลตนเองที่มากเกินความต้องการ มีผลเสียทำให้คุณค่าของรางวัลลดลง และทำให้แรงจูงใจในการทำพฤติกรรมนั้นลดลงด้วย

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีของเรื่องตลก Theory of Comedy(3)

แต่อย่างไรก็ตาม ละครตลกบางเรื่องยังคงสามารถเตือนความสนุกสนานได้ แม้ว่าบรรทัดฐานต่างๆจะเปลี่ยนไปก็ตาม. ตลกกางเกงขี่ม้าของผู้ชาย Shakespeare อย่าง Viola ในเรื่อง Twelfth Night หรือ Rosalind ใน As You Like It ได้ปลุกเร้าผู้ดูในสมัย Elizabethan ให้หัวเราะออกมาได้ก็เพราะ บรรทัดฐานทางสังคมของยุคสมัยนั้นถือว่า ผู้หญิงไม่ควรใส่ เสื้อผ้าของผู้ชาย และภาพที่เห็นเกี่ยวกับ Viola และ Rosalind ในเครื่องแต่งตัวแบบผู้ชาย เป็นเรื่องที่ดูไม่ได้หรือไม่เหมาะสม. ทุกวันนี้ ผู้หญิงต่างก็สวมเสื้อผ้าแบบผู้ชายซึ่งถือเป็นเรื่องมาตรฐานธรรมดา และด้วยเหตุนี้ การเห็น Viola ในชุดกางเกงขี่ม้า ของผู้ชายจึงไม่ใช่เรื่องตลก.
มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างในบทละครของ Shakespeare ที่เป็นเรื่องไม่เหมาะสมหรือถูกกาละเทศะสำหรับบรรทัดฐานในทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุใดเรื่องตลกหรือหัสนาฏกรรมของเขาจึงยังคงให้ความสนุกสนานอย่างต่อเนื่อง อีกสี่ร้อยปีภายหลังได้ ทำไมเรายังคงหัวเราะกับเรื่องเหล่านั้นได้ ซึ่งบางที อาจจะไม่ใช้ในเหตุผลเดียวกันกับผู้ดูในสมัย Elizabethan เข้าใจ, แต่ละครตลกเหล่านั้นมันยังสร้างความขบขันต่อมาได้ก็เพราะ เขาได้เข้าถึง ความตลกขบขัน จากความเป็นมนุษย์มากกว่า เป็นเรื่องบรรทัดฐานของสังคมนั่นเอง.
แง่มุมที่น่าสนใจในที่นี้ 3 ประการเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับกาละเทศะ คือ 1 เรื่องตามตัวอักษร(literalization) 2 เรื่องการพลิกกลับ(reversal) และ 3 ความมากจนเกินไป(exaggeration).
ในเรื่องตลกตามตัวอักษร เรื่องโจ๊กมาจาก การเป็นตัวแทนภาพอันหนึ่งของคำพูด และกระทำการในลักษณะตามตัวอักษร. ตัวอย่างเช่น เมื่อ Max Smart (GET SMART)ขอเจ้าหุ่นยนต์ Hymie ว่า “give me a hand”, Hymie ก็ดึงแขนข้างหนึ่งของมันออกมาแล้วส่งให้ อันนี้เป็นการตีความเชิงตรรกตามตัวอักษรตรงๆของหุ่นยนต์ Hymie.
การพลิกกลับ ก็คือการพลิกผวนไปจากธรรมดานั่นเอง นั่นคือ อะไรที่เป็นธรรมดาและเป็นที่คาดหวัง กลับกลายเป็น อีกเรื่องหนึ่งไป ในทางตรงกันข้าม อันนี้อย่างเช่น ตอนที่ Retief, ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ของ Keith Laumer ในเรื่อง Retief and the Warlords, ได้ถูกควบคุมตัว เขาคิดไปว่าผู้จับกุมเขาคงจะนำตัวเขาไปทรมานอย่างแสนสาหัส แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เขาได้ถูกทำร้าย ด้วยงานศิลปะสมัยใหม่ และภาพที่มีกลิ่นเกี่ยวกับความเหน็ดเหนื่อยที่ทุรนทุราย, ขนมปังปิ้งไหม้ๆ, ก๋วยเตี๋ยวผัดราดหน้า, เนยแข็งที่มีกลิ่นเหม็น และชื่อเสียงอันเลวร้ายที่จะได้รับจากผู้คน.
ในเรื่องของการเกินเลยไปจากความเป็นจริงที่เข้ามาทดแทนความเป็นปกติ ธรรมดา อันนี้จะเห็นได้จากตัวอย่างเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น ซึ่งบรรดาตัวละครทั้งหลายต่างมีปฏิกริยาเหนือไปจากความสัมพันธ์ที่เหมาะสม ทั้งหมด: เช่น ภูเขาทั้งลูกหลุดไปจาก เนินดิน ที่มันก่อตัวขึ้นมา พร้อมๆกัน หรือการค้นพบของภรรยาขี้หึงคนหนึ่ง เกี่ยวกับเส้นผมสีทอง บนเสื้อคลุมของสามี ได้นำเธอไปสู่ ฉากที่คิดขึ้นมาเองในใจ ของการนัดพบบ้าๆระหว่างสามีของตนและชู้รัก, การเดินทางไปสู่ Riveria, และพล็อทเรื่อง การฆาตกรรมที่จะมีต่อเธอ, จนกระทั่งเขาชี้ไปที่สุนัขตัวหนึ่งซึ่งนั่งอยู่ที่ใกล้เท้าของเธอ. การให้ภาพเกิน ความเป็นจริงไป เป็นมาตรฐานอันหนึ่งของเรื่องตลก
ความไม่เหมาะสมหรือถูกกาละเทศะที่สุดก็คือการละเมิดเกี่ยวกับข้อห้าม ต่างๆทางสังคมนั่นเอง. การฝ่าฝืนนี้สามารถ ปลุกให้คน หัวเราะได้มากที่สุด. Richard F. Taflinger ได้ยกตัวอย่าง เช่น ในสังคมอเมริกัน ข้อห้ามสุดๆที่ผู้คนระมัดระวังก็คือ การสนทนา กันเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ ความตาย และหน้าที่ทางชีววิทยา สิ่งเหล่านี้เป็นหัวข้อที่สังคมประกาศิตไว้ว่า ควรพูดคุยถึงเรื่อง ดังกล่าวอย่างจริงจัง อย่างรอบคอบสุขุม และอย่างสุภาพ ถ้าเผื่อว่าจะคุยกันถึงเรื่องราวเหล่านี้. จากข้อห้ามดังกล่าว เรื่องตลกต่างๆ ได้พลิกแพลงนำมาใช้กันมากเลยทีเดียว.
ธาตุแท้ข้อที่ 6 สำหรับความตลกขบขันคือ ดังที่ Aristotle ได้กล่าวเอาไว้ว่า “…ซึ่งจะต้องไม่เป็นเหตุให้เจ็บปวด หรือทำลายล้าง… มันอาจจะบีบคั้นแต่จะไม่มีความเจ็บปวด” อันนี้มีตัวอย่างเช่น ภาพการ์ตูนต่างๆได้ถูกรับรู้โดยผู้ดู ในฐานะที่เป็นผู้ซึ่งมีส่วนร่วม แต่จะต้องไม่เป็นอันตรายใดๆขึ้นมาจริงๆ: ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสุข ผู้ดูอาจจะถูกขึงพืด ถูกบิดเบือน หรือถูกขยี้, แต่พวกเขาจะกู้ภาวะอารมณ์นั้นคืนกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และในท้ายที่สุด พวกเขาจะได้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติอีกครั้ง เหมือนดังเดิม.
ตัวอย่างที่นิยมยกกันมาก็คือ Road Runner ตัวการ์ตูนของ Wanner Brother ซึ่ง Wile E. Coyote (หมาป่า)ได้ถูกทิ้งลงมา, ถูกบดขยี้, ถูกตี, ถูกหมุน, ถูกบีบ ถูกอัด, หรือไม่เช่นนั้นก็ถูกทำโทษในความพยายามของมันที่จะจ้องจับ Road Runner, แต่ต่อมา มันก็ได้รับการนำกลับมาปะติดปะต่อกันใหม่เพื่อรอที่จะถูกฉีกขาดอีกครั้งใน ตอนต่อไป
จะเห็นได้ว่า เจ้าหมาป่านี้ไม่เคยที่จะถูกทำลายลงอย่างถาวร ไม่ว่ามันจะล่วงลงมาจากหน้าผาสูง หรือมีหินก้อนใหญ่กลิ้งมาทับมันก็ตาม.
บรรทัดฐานอันนี้ ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงด้วย. กล่าวคือ มันเป็นเรื่องที่สร้าง ความสนุกสนาน เมื่อมีใครลื่นไหลจาก พื้นน้ำแข็งและหกล้ม: ผู้คนจะหัวเราะออกมาดังลั่น – แต่หากว่าพวกเขารู้ว่าชายคนที่ลื่นหกล้มบนลานน้ำแข็งต้องขาหักหรือพิการ. เหตุการณ์นั้นจะทำให้ผู้ชมหัวเราะไม่ออกเอาเลย.
เกณฑ์ 6 ประการที่กล่าวมานี้ ได้ถูกนำเสนอเพื่อพยายามที่จะทำให้ความตลกขบขันประสบความสำเร็จ: ถ้าหากว่ามีอันหนึ่งอันใด ได้ขาดหายไป ความตลกขบขันก็จะล้มเหลว. ตราบเท่าที่ผู้ชมทราบถึง บรรทัดฐานต่างๆ และสามารถเห็นถึง ความไม่เหมาะสม หรือถูกกาละเทศะดังกล่าว คนที่มีส่วนร่วมกระทำในลักษณะที่ขาดความยืดหยุ่น แต่มีความเป็นมนุษย์โดยกำเนิด และไม่มีใครต้อง เจ็บตัว และผู้ชมไม่ได้ยึดถือมันว่าเป็นเรื่องส่วนตัว หากเป็นเช่นว่านี้ ความพยายามของเรื่องตลกอันนั้น จะประสบความสำเร็จสร้า งความสนุกสนานขึ้นมาได

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีของเรื่องตลก Theory of Comedy(2)

Lenny Bruce เป็นคนที่เชื่อมั่นในเรื่องพื้นฐานของสติปัญญาเกี่ยวกับเรื่องตลก มีอยู่คราวหนึ่งที่เขาต้องลุกขึ้น พูดกับแขกที่มาในงาน เขาเริ่มต้นด้วยการจำแนกเชื้อชาติแขกทั้งหมด และชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย ในหมู่ผู้ฟังของเขาด้วยลักษณะของการสบประมาท: “ผมเห็นว่าเรามีพวกนิเกอร์อยู่สามคนอยู่ตรงนั้น. และตรงโน้น ผมเห็นชาวตะวันออกกลางสองคน, และนั่นก็สแปนนิชอเมริกันห้าคน, ตรงนู๊นก็คนยิว” และนั่นก็คนจีน ฯลฯ… ขณะที่เขาเริ่มต้นด้วยลักษณะท่าทีเช่นนี้ มันได้ทำให้เกิดอาการหายใจหายคอไม่ค่อยออกหรืออึดอัดขึ้นมาในหมู่ผู้ฟัง และผู้ฟังบางคนรู้สึกโกรธขึ้นมาตะหงิดๆ: บรรดาผู้ชมไม่เชื่อว่า Bruce จะเป็นคนที่ชอบดูถูกและสบประมาทผู้คนเช่นนี้ และช่าวเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์อ่อนไหวเอาเสียเลย แต่ขณะที่ Bruce พูดต่อไปและรายชื่อต่างๆ ได้ถูกเอ่ยพูดออกมาเรื่อยๆ จนนานมากพอทีเดียว, มันก็เป็นที่กระจ่างชัดว่า เขากำลังรายงานสภาพทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเห็นและคิดถึงนั่นเอง, คำพูดต่างๆของเขาได้ เริ่มสูญเสียความหมายของมันลงไป, นั่นคือความหมายทางอารมณ์ที่เป็นการดูถูกหรือสบประมาท และได้เปลี่ยนไปเป็นเสียงที่ดังออกมาอย่างไร้ความหมายที่จริงจังใดๆเท่านั้น
กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกมันได้สูญเสียเนื้อหาสาระทางอารมณ์และกลับกลายเป็นเรื่องภายนอกบริบทหรือ สภาพแวดล้อมไป. ณ จุดนี้ บรรดาผู้ชมทั้งหลาย ที่ครั้งแรกรู้สึกหายใจหายคอไม่ทั่วท้องและรู้สึกโกรธขึ้นมากับคำพูดเหล่า นั้น เริ่มที่จะหัวเราะออกมาได้: เพราะผู้ชมตอนนี้ กำลังโต้ตอบกับเรื่องของสติปัญญา, มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก.
ธาตุแท้ของเรื่องตลกในข้อที่สอง ที่บอกว่าเป็นเรื่องกลไกอัตโนมัติ และข้อที่สามที่กล่าวถึงความเป็นมนุษย์โดยกำเนิด ได้รับการแยกแยะโดย Henri Bergson ในความเรียงของเขาเรื่อง”Laughter”. ทฤษฎีของเขาได้พัฒนาขึ้นมาบนความจริงในตัวมันเองอันหนึ่ง ที่ว่า แก่นแท้ที่ทำให้คนเราหัวเราะออกมาได้นั้น สร้างขึ้นมาโดยกลไกอัตโนมัติที่ไม่รู้จักยืดหยุ่น ในเรื่องที่เราคาดหวังว่าจะปรับตัวได้และยืดหยุ่นได้.
มันเป็นเรื่องที่ตลกเมื่อใครคนหนึ่งกระทำการในลักษณะหรือท่าทีที่ไม่ เหมาะสมต่อสถานการณ์หรือสิ่งเร้าหนึ่งๆ เช่นดั่งในละครตลกที่ไม่ค่อยเป็นสัปะรดทั้งหลาย อย่างพวกตลกที่ใช้ไม้มาตีกันแรงๆให้คนดูตลกเป็นต้น. มันเป็นเรื่องสนุกเมื่อเก้าอี้ถูกดึงออกมาจากก้นของคนที่กำลังจะนั่งลงมาพอ ดี ทั้งนี้เพราะ เขาไม่สามารถที่จะปรับตัวในสถานการณ์นั้นได้นั่นเอง และยังคงนั่งลงไปด้วยกลไกอัตโนมัติ ผลก็คือ ก้นจ้ำเบ้าลงไปบนพื้นนั่นเอง.
หรืออย่างเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง, ในเรื่อง Much Ado About Nothing ของ Shakespeare, มันเป็นเรื่องที่สนุกสนานก็เพราะว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวยังคงไม่เข้าท่าเข้าทางและไม่รู้ตัว ด้วยการคิดว่า เขาในฐานะตำรวจยังคงต้องมีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบต่อสถานการณ์หนึ่ง สถานการณ์ใดอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่จริงๆแล้ว เขาไม่มีไอเดียหรือความรู้อะไรเลยว่า ได้เกิดอะไรขึ้นมาในสถานการณ์นั้นๆ และจะต้องแก้ปัญหากับมันอย่างไร.
Lucy ในเรื่อง I Love Lucy เป็นเรื่องที่สนุกเพราะว่า เธอมีปฏิกริยาอัตโนมัติต่อเหตุการณ์ทั้งหลายโดยไม่ได้คิดเลยว่า เหตุการณ์นั้นๆมันได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ไปแล้ว.
ขยายความเกี่ยวกับทฤษฎีของ Bergson ก็คือ ไอเดียของเขานั้นที่ว่า เรื่องตลกเป็นเรื่องของมนุษย์มาแต่กำเนิด มันมีบางสิ่งซึ่งเป็นที่สนุกสนานเพียงเพราะมันได้เตือนผู้ดูทั้งหลายเกี่ยว กับความเป็นมนุษย์นั่นเอง. ผู้ชมอาจหัวเราะออกมาเพราะ การกระทำอันแปลกวิตถารของสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง, อย่างเช่น ลิงชิมแปนซี หรือม้า หรือหมี, เพียงเพราะพฤติกรรมของสัตว์พวกนั้น มันได้มาเตือนความทรงจำของเราเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์บางอย่างนั่นเอง. ดังนั้น, สัตว์ต่างๆอย่างเช่น ชิมแปนซีและอุรังอุตัง บ่อยครั้ง มันแต่งตัวในเสื้อผ้าอย่างมนุษย์เพื่อเพิ่มเติมความทรงจำของเรา และม้า อย่างเช่น Mr.En และล่อที่ชื่อ Francis ซึ่งพูดได้, สามารถที่จะคิดได้เหนือกว่ามนุษย์ที่อยู่รายรอบ เป็นต้น.
จุดที่สำคัญอันหนึ่งที่เด่นชัดเมื่อเราตรวจสอบเรื่องตลกต่างๆก็คือ มันตั้งอยู่บน พื้นฐานของการไม่ลงรอย หรือสอดคล้องกันนั่นเอง ความไม่คาดฝันใน สิ่งที่เราคาดหวัง, ความไม่ปกติในความเป็นปกติ ความผิดแผกไป หรือไม่สามารถปรับตัวได้ในสิ่งซึ่งได้รับการยอมรับแล้ว ในฐานะบรรทัดฐานทางสังคม
สำหรับการที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ลงรอยกันนั้น จะต้องเป็นบางอย่างที่มันไม่เข้ากัน. ด้วยเหตุนี้ สำหรับเรื่องตลกที่มันเข้าท่าเข้าทาง หรือทำงานนั้น มันจะต้องเป็นเรื่องของบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์และสังคม ขนบธรรมเนียม ศัพท์แสลง หรือสำนวน คำศัพท์ ในลักษณะสวนทาง ซึ่งการไม่ลงรอยกันจะถูกพบเสมอ. บรรทัดฐานต่างๆอันนั้นอาจเป็นเรื่องภายในหรือเรื่องภายนอกก็ได้. บรรทัดฐานภายในคือสิ่งต่างๆที่ผู้เขียนได้ตระเตรียมขึ้นมาในต้นฉบับ. ส่วนบรรทัดฐานภายนอกก็คือสิ่งที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งต้นฉบับได้เขียนถึง.
ปัญหาสำคัญคือว่า บรรทัดฐานอะไรที่มีอยู่ และอะไรที่ล้าสมัยไปแล้วบ้าง หลายครั้งผู้คนที่ได้ยินเรื่องตลก ไม่สามารถรู้สึกตลกไปด้วยได้ ทังนี้เพราะพวกเขาไม่รู้หรือเข้าใจบรรทัดฐานทางสังคมนั่นเอง อันนี้จะเห็นได้ชัดเกี่ยวกับตลกฝรั่ง ซึ่งคนไทยมักจะฟังไม่รู้เรื่องหรือไม่ขำ ก็เพราะเราไม่ทราบว่า โจ๊กหรือเรื่องตลกนั้น มันได้ไปละเมิดต่อบรรทัดฐานทางสังคมของฝรั่งอย่างไรนั่นเอง
อันนี้เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราจึงไม่สามารถอธิบายได้ถึงเรื่องตลกเรื่องหนึ่ง การที่เราสามารถจะอธิบายมันได้ แรกสุดเลยนั้น เราจะต้องชี้แจงถึงบรรทัดฐานทางสังคมนั้นได้ ต่อจากนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามันได้ถูกฝ่าฝืนกฎอย่างไร. การอธิบายนั้นจะยักย้ายความไม่ลงรอยกันออกไปโดยแสดงให้เห็นภาพว่า มันทำงานภายในบรรทัดฐานต่างๆ
เกี่ยวกับบรรทัดฐานต่างๆ ยังอธิบายด้วยว่า ทำไมเรื่องขบขันบางเรื่องมันจึงพ้นความเข้าใจไปแล้ว. ละครตลกและเรื่องโจ๊กอาจจะล้าสมัยไปได้. ละครตลกต้นๆของ Neil Simon หลายๆครั้งขึ้นอยู่อย่างมาก กับทัศนคติทางสังคมของยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง. อย่างไรก็ตาม บทบาทและท่าทีในเรื่องเซ็กซ์ได้แปรเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก นับตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา และในเรื่อง Come Blow Your Horn และเรื่องขบขันในตัวละคร Alan Baker ค่อนข้างจะเป็นไปในลักษณะมีอคติทางเพศต่อผู้หญิงและเรื่องเซ็กซ์. ปัจจุบันนี้เรื่องดังกล่าวมันกลายเป็นปลุกเร้าปฏิกริยาทางอารมณ์ของคนเราไป, ถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้รสนิยม มากกว่าเรื่องที่จะทำให้คนหัวเราะออกมาได้.

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคทางจิตวิทยาที่ใช้ในการพัฒนาตน(2)

เทคนิคการเปลี่ยนแปลงความคิด

เทคนิคที่ใช้ในการจัดการเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเอง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามปัญหาได้
1.เทคนิคการหยุดความคิด (Thought Stopping)
เทคนิคการหยุดความคิด เป็นเทคนิคสำหรับแก้ไขพฤติกรรมการคิดที่ไม่เหมาะสม
เช่น ย้ำคิด ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำซาก จนเป็นปัญหา หรือในกรณีที่บุคคลมีความคิดแง่ลบในเรื่องใดเรื่องหนึ่งผุดขึ้นมาในสมองบ่อย ๆ ซึ่งความคิดเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวล เศร้า เสียใจ เช่น ความคิดว่า "ฉันคงจะสอบไม่ผ่านแน่" "ฉันคงทำไม่ได้ " "ฉันคงแพ้แน่"
เทคนิคการหยุดคิด ทำได้ 2 แบบ คือ แบบง่าย และแบบฝึกในจิตนาการ
 1.1 เทคนิคการหยุดความคิดแบบง่าย มีวิธีการที่เป็นลำดับขั้นตอนดังนี้
(1) ทุกครั้งที่ความคิดทางลบนั้นผุดขึ้นมาในสมอง ให้ตะโกนบอกตนเองว่า "หยุด" (ซึ่งหมายถึง หยุดคิด) แล้วผ่อนคลายโดยการผ่อนลมหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ สัก 2-3 ครั้ง
(2) แทนที่ความคิดทางลบโดยการบอกตนเองด้วยข้อความทางบวก เช่น
"ฉันจะต้องสอบผ่าน" "ฉันทำได้ " "ฉันจะต้องชนะ"
 1.2 การหยุดความคิดแบบฝึกในจินตนาการ โดยทั่วไปแล้วการฝึกเทคนิค การหยุดความคิดแบบฝึกในจินตนาการนั้นจะมีนักจิตวิทยาเป็นผู้ฝึกให้ โดยเริ่มต้นการฝึกในห้อง การปรึกษาแล้วให้ผู้ฝึกนำไปฝึกเองต่อไป อย่างไรก็ตามนักศึกษาก็สามารถลองฝึกด้วยตนเองได้ โดยดำเนินการฝึก ตามขั้นตอนดังนี้
(1) ระบุความคิดที่ไม่เหมาะสม
(2) ระบุสภาพการณ์ที่ทำให้เกิดความคิดนั้น
(3) วิเคราะห์ผลที่ตามมาจากความคิดนั้น เช่น อารมณ์ หรือ พฤติกรรม
(4) นำความคิดนั้นมาจินตนาการเป็นภาพ และฝึกจินตนาการภาพ
(5) เหตุการณ์นั้นให้ได้รวดเร็วและชัดเจน
(6) เมื่อจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่เป็นความคิดที่ไม่เหมาะสม ให้ตะโกนคำว่า
"หยุด" หรือ "ไม่" ในความคิด
(7) ฝึกบอกตนเองให้หยุดคิดในใจได้ทันทีที่จินตนาการถึงเหตุการณ์ที่เป็น
ความคิดที่ไม่เหมาะสม
2. เทคนิคการมองมุมใหม่ (Reframing)
การมองมุมใหม่ เป็นวิธีการเปลี่ยนความคิดโดยการหาแง่มุมมองทางบวกที่เป็นไปได้ในเหตุการณ์ หรือข้อมูลทางลบ หรือการมองหาผลทางบวกที่เราอาจได้รับจากเหตุการณ์ร้ายที่เรากำลังเผชิญอยู่ เช่น
(1) การที่เราต้องทำงานหาเงินช่วยตัวเองเรียนแม้จะเหนื่อยมาก แต่ก็ทำให้เราเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง อดทน และมีความรับผิดชอบ
(2) การมองว่าเหตุการณ์ที่คุณแม่ไม่อนุญาตให้ไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน เป็น
เพราะความห่วงใย กลัวเราจะประสบอุบัติเหตุ แทนมุมมองเดิมที่เคยมองว่า แม่ไม่รัก ไม่เข้าใจ ความต้องการของวัยรุ่น

ทฤษฎีของเรื่องตลก(1)

คำว่า humour หรือ humor มาจากภาษาลาตินคำว่า Liquid หรือคำว่า fluid (ซึ่งแปลว่าของเหลว ของไหล), ตามทฤษฎีปรัชญาตะวันตกเชื่อว่า มีของเหลวอยู่สี่ชนิดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายคนเรานั้น และได้รับการคิดว่า ของเหลวเหล่านี้ ได้มีส่วนในการกำหนดอารมณ์ความรู้สึกและลักษณะท่าทีของคนเรา.
ในทฤษฎีทางปรัชญาโบราณ ซึ่งแพร่หลายมาจนกระทั่งช่วงยุคกลางของยุโรป, เชื่อว่า อารมณ์ของมนุษย์ ที่สำคัญสี่ประการนั้น อันได้แก่ อารมณ์ดีหรือขบขันมาจากเลือดแดง ความเฉื่อยชา และ อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย มาจากน้ำเหลือง และความรู้สึกหดหู่มาจากเลือดดำ การผสมกันปรวนแปรของอารมณ์ หรือ ของเหลวเหล่านี้ จะมีส่วนกำหนดคนขึ้นมาให้มีลักษณะที่แตกต่างกัน และยังมีส่วนใน การกำหนดคุณลักษณะต่างๆ ของบุคคล หรืออารมณ์ความรู้สึก คุณภาพด้านร่างกายและจิตใจ และความโน้มเอียงต่างๆของคนเรา
คนเรานั้น ในเชิงความคิด ได้รับการเชื่อว่ามีส่วนผสมเกี่ยวกับของเหลวสี่อย่างนี้ และของเหลวใดก็ตามที่มาครอบงำของเหลวชนิดอื่นๆ จะมีส่วนในการทำให้คนเรา เป็นคนที่มีอารมณ์และบุคลิกผิดแผกแตกต่างกันไป เช่น เป็นคนร่าเริง หรือตามที่ฝรั่งเรียกว่า sanguine (ซึ่งมาจากภาษาลาติคำว่า sanguis แปลว่า”เลือด”นั่นเอง), หรือเป็นคนที่เฉื่อยชา, อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย, หรือเป็นคนที่อารมณ์หดหู่ เป็นประจำ. คุณลักษณะพวกนี้ได้มีส่วนกำหนดบุคลิกภาพของแต่ละคน
คนซึ่งมีบุคลิกแต่ละอย่างนั้น ยังมีลักษณะที่เด่นของตนเองเป็นแบบฉบับบางอย่าง เช่น คนที่ฉุนเฉียวง่าย(choleric man) จะเป็นคนที่ขี้มักโกรธ หรืออารมณ์บูดอยู่บ่อยๆ ใบหน้าจะออกเหลือง, รูปร่างผอม, ผมดก, มีความภาคภูมิใจในตนเอง, มีความทะเยอทะยาน, มีจิตใจผูกพยาบาทและต้องการแก้แค้น, แต่เป็นคนที่หลักแหลม.
เรื่องที่ควรจะเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยในที่นี้ก็คือ เรื่องของ”ความขบขัน” ในราวคริสตศตวรรษที่ 16 ถือว่าเป็น เครื่องหมายแห่งภาวะที่ขาด ดุลยภาพทางจิตใจ, มีอารมณ์ที่ปราศ จากเหตุผล ทำอะไรตามอำเภอใจ และเป็นพวกที่ไม่มีความแน่นอน หรือเป็นคนโง่และเลวทราม. หากใครก็ตามที่ยังมีความเชื่อว่า ความตลกขบขันหรือความสนุกสนาน เป็นเรื่องของความไร้สาระ เหลวไหล ไม่น่าเชื่อถือ บางทีเราอาจจะยังคงเป็นคนหลงยุคในคริสตศตวรรษที่ 16 อยู่ก็ได้
ทฤษฎีของเรื่องตลก (Theory of Comedy)
Dr. Richard F. Taflinger กล่าวว่า “เรื่องตลกคือสิ่งที่ทำให้เราหัวเราะออกมาได้”. ฟังดูไม่เห็นว่าจะลึกซึ้งอะไรเลย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาซึ่งน่าสนใจกว่าก็คือ เขาได้ทำการศึกษาถึงพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องตลกที่ทำให้คนเราหัวเราะออกมา และได้สรุปออกมาเป็นข้อๆเรียกว่า แก่นแท้ 6 ประการ สำหรับการทำให้บางสิ่งเป็นเรื่องที่ขบขัน คือ
  1. มันจะต้องเป็นสิ่งที่เรียกร้องการใช้ความคิดสติปัญญามากกว่า การใช้อารมณ์ความรู้สึก
  2. มันจะต้องเป็นเรื่อง กลไกปฏิกริยาอัตโนมัติ
  3. มันต้องเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มีมาแต่กำเนิด โดยที่สามารถที่จะเตือนเรา ให้ระลึกถึงเกี่ยวกับ ความเป็นมนุษย์ได้
  4. มันจะต้องเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ที่ยอมรับกันชุดหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านมีความคุ้นเคย, ไม่ว่าจะโดยผ่าน ชีวิตประจำวัน หรือการตระเตรียมขึ้นมาโดยของนักเขียนในเนื้อหาที่แสดง ออกมาก็ได้ และ บรรทัดฐาน เหล่านั้น ได้ถูกฝ่าฝืน
  5. มันจะต้องเป็นสถานการณ์และองค์ประกอบต่างๆ (ท่าทีของพฤติกรรม และคำพูด) ที่ไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือไม่สัมพันธ์กันกับบริบทนั้นๆ
  6. มันจะต้องถูกรับรู้โดยผู้สังเกตุการณ์ในฐานะที่ไม่เป็นภัยอันตรายใดๆหรือสร้างความเจ็บปวดต่อผู้มีส่วนร่วม.
เมื่อบรรทัดฐานเหล่านี้ถูกค้นพบ, ผู้คนจะหัวเราะออกมา. ถ้าเผื่อว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดหายไป ความพยายามอันนั้น ต่อเรื่องความขบขันก็จะหายไปด้วย
เมื่อลงรายละเอียดกันดูในแต่ละข้อ, Richard F. Taflinger ให้คำอธิบายว่าอย่างไรบ้าง
ข้อแรก เรื่องการเรียกร้องให้ใช้ความคิดสติปัญญามากกว่าอารมณ์ อันนี้จะเห็นได้ชัดเมื่อเป็น เรื่องของความขบขัน ที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย อย่างเช่นเรื่องของ ชาวโปลิช ชาวไอริช หรือคนขาว, พวกชาวเกย์ และองค์กรหรือ สมาคมต่างๆ เช่น สมาคมสตรี เป็นต้น ฯลฯ)
ต่อชนกลุ่มต่างๆเหล่านี้ ที่ถูกทำให้เป็นเรื่องตลกขบขันเกี่ยวกับความเสียๆหายๆของพวกเขา ซึ่งที่จริงแล้ว ชนกลุ่มต่างๆที่ต้องประสบกับเรื่องเหล่านี้โดยตรงจะไม่รู้สึกสนุกสนานไปด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขาอาจถูกดูถูก อาจถูกสบประมาท และถูกกระทำอย่างไม่สุภาพ.
โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนทั้งหลานยจะขานรับต่อการดูถูกเหยียดหยาม และความไม่สุภาพในลักษณะที่เป็นอัตวิสัย หรือเป็นส่วนตัวเอามากๆ, เช่นด้วยการก้าวร้าว หรือด้วยความโกรธแค้น, ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก. ส่วนผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นคนที่ไม่ได้ถูกสบประมาท หรือผู้ที่บังเอิญไปได้ยิน คนพวกนี้จะขานรับต่อ เรื่องดังกล่าวในลักษณะที่เป็นวัตถุวิสัยมากกว่า และจะมีมุมมองทางด้านสติปัญญา เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ และสามารถโต้ตอบกับมันได้หากว่าเขาต้องเผชิญหน้ากับมัน.

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

นมแม่และฮอร์โมนอ๊อกซิโทซิน : การสร้าง "ความเป็นแม่"


เขียนโดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

คุณแม่คะ...เคยสังเกตไหมคะว่า ทำไมเวลาอุ้มกอดลูกเพื่อให้ลูกดูดนมแม่ จะรู้สึกว่าลูกดูน่ารักเหลือเกิน อยากจะกอดกันอย่างมีความสุขอย่างนี้ให้นานที่สุด นี่เป็นผลจากฮอร์โมน อ๊อกซิโทซินค่ะ
อ๊อกซิโทซิน : วิถีธรรมชาติเพื่อสร้าง "ความเป็นแม่"

ในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายและสมองของคุณแม่จะมีการเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อ ฮอร์โมนแห่งความเป็นแม่นี้ ในช่วงขณะคลอดตามธรรมชาติ ระดับฮอร์โมนนี้ จะขึ้นสู่ระดับสูงทั้งในแม่และลูก ทำให้แม่คุ้นเคยกับกลิ่นลูก อยากอยู่ใกล้ๆลูก ลูกก็จะผ่อนคลาย และชอบที่จะเข้าหากลิ่นของแม่ ช่วงหลังคลอดใหม่ๆนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่แม่ลูกจะได้พบกัน และเริ่มการให้นมแม่ค่ะ
เกิดอะไรขณะให้นม
ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการให้นม มี 2 ชนิด คือ โพรแลคตินและออกซีโทซิน เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้าง การผลิต และการให้นมแม่ค่ะ ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ผลิตจากต่อมใต้สมอง คือ ต่อมพิทูอิตารี โดยโปรแลคตินถูกสร้างจากต่อมส่วนหน้า ส่วนออกซีโตซินผลิตจากส่วนหลังของต่อมเดียวกัน
โพรแลคติน จะถูกกระตุ้นให้หลั่งเพิ่มขึ้นเมื่อทารกดูดนมแม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างน้ำนมขึ้นในต่อมน้ำนม โพรแลคตินจะขึ้นสูงค้างอยู่หลังจากลูกดูดนม นานประมาณ 30 นาที แล้วก็จะตกลง หากลูกไม่ได้ดูดนมต่อเนื่องบ่อยๆ สมองก็จะไม่ผลิตโพรแลคตินออกมาอีก น้ำนมก็จะผลิตออกมาน้อยตามไปด้วยค่ะ นี่คือเหตุผลที่จะต้องให้ลูกดูดนมแม่กันบ่อยแทบจะตลอดเวลาในช่วง1-3 วันแรกนี้โดยไม่ต้องให้นมอื่นเสริม
ออกซีโทซิน หรือ cuddle hormone (การกอด) หรือ bonding hormone (ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความรักความผูกพัน) จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงใกล้คลอด และหลังจากคลอดแล้วออกซีโทซินก็จะไปกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมของความเป็นแม่ ค่ะ
ทุกครั้งที่ลูกดูดนมแม่ สมองจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความรักความผูกพันระหว่างคุณแม่และลูกน้อยเพิ่มมากขึ้น และลูกก็จะได้รับออกซีโทซินจากนมแม่โดยตรงด้วยค่ะ เพราะในน้ำนมแม่มีฮอร์โมนชนิดนี้อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกผูกพันกับคุณแม่
นอกจากนั้น ออกซีโทซินยังทำให้เกิดการหลั่งน้ำนมด้วย คือ การที่คุณแม่มีน้ำนมพุ่งออกมาจากเต้า เพราะออกซีโทซินกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเล็กๆ ที่อยู่รอบๆ ต่อมน้ำนม และกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่พันอยู่รอบๆ ท่อน้ำนมมีการบีบตัว ทำให้น้ำนมไหลไปสู่ลูกอย่างต่อเนื่องค่ะ
อารมณ์ดี...น้ำนมไหลดี
ฮอร์โมนออกซีโทซินจะไวต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่มากค่ะ หากคุณแม่รู้สึก เครียด กังวล เกิดความกลัว หรือเหนื่อยอ่อนจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้สมองผลิตฮอร์โมนชนิดนี้น้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงไปด้วยเช่นกันค่ะ
ในทางตรงข้าม สิ่งที่ทำให้ฮอร์โมนนี้หลั่งได้ดีขึ้น ก็คือจิตใจที่มีความสุขของแม่เองค่ะ คุณแม่บางคนแค่คิดถึงหรือได้กลิ่นลูกฮอร์โมนหลั่งออกมาได้เลย อย่างเช่นคุณแม่บางคนเวลาจะปั๊มนมจะต้องเอาผ้าที่ลูกเคยใช้ไปนั่งดม พอได้กลิ่นลูกก็มีความสุข น้ำนมก็ออก บางคนเอารูปลูกไปดูก็มีความสุข น้ำนมก็ออกเช่นกัน
ดังนั้น หากต้องการให้ฮอร์โมนหลั่งดี น้ำนมมาในปริมาณมาก คุณแม่ก็ต้องทำใจให้สบาย ไม่เครียด เพราะถ้าเครียดน้ำนมก็จะยิ่งน้อยค่ะ
การให้นมแม่จะเป็นไปตามธรรมชาติค่ะ ลูกร้องไห้หิวนมก็ให้กินนม กินแล้วก็นอน พอร้องใหม่ก็ให้กินใหม่ ลูกนอนหลับก็นอนด้วย ตื่นขึ้นมาหิวก็กินใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกซึ่งแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเด็กในช่วงเดือนแรกต้องการอยู่กับคุณแม่เท่านั้นค่ะ

ฮอร์โมนแห่งความผูกพัน

ฮอร์โมนแห่งความผูกพันธ์ ความผูกพันเป็นแค่เพียงความรู้สึกใช่ไหม และมีปฏิกิริยาทางเคมีอะไรที่ทำให้เราผูกพันธ์กับคนที่เรารัก ฮอร์โมน Oxytocin ฮอร์โมนของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมทำหน้าที่เป็นนิวโรทรานสมิตเตอร์ (neurotransmitter)ในสมอง
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาโดยเริ่มทดลองพบว่า ฮอร์โมนตัวนี้ส่งผลต่อรูปแบบพฤติกรรมอันหลากหลายรวมทั้งอารมณ์ทางเพศ การยอมรับในสังคม การจับคู่ ความโกรธ ความเชื่อใจ ความรักและพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการเป็นแม่ เจ้าฮอร์โมนตัวนี้เป็นฮอร์โมนแห่งพลัง พบในทั้งเพศหญิงและชายจะถูกปลดปล่อยออกมาในเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ มันช่วยทำให้คู่รักมีความรู้สึกที่สนิมสนมใกล้ชิดกันมากขึ้น หลังจากมีเพศสัมพันธ์แล้ว ทางทฤษฏีกล่าวว่าคู่รักคู่ไหนยิ่งมีเพศสัมพันธ์มากเท่าใดความรู้สึกผูกพันธ์ ลึกซึ้งยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
นอกจานี้สารเคมีตัวนี้ยังเป็นตัวที่ทำให้แม่กับลูกมีความผูกพันกัน อย่างมาก ซึ่งจะปลดปล่อยออกมาในช่วงการคลอดบุตร มีอยู่ในน้ำนมของแม่จะออกมาโดยทันทีเมื่อได้เห็นหน้าลูกหรือได้ยินเสียงของ ลูก อีกหนึ่งฮอร์โมนที่สำคัญมีชื่อว่า วาโซเพรสซิน (Vasopressin) จะถูกหลั่งออกมาหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ทำงานร่วมกับไตของเราเพื่อที่จะควบคุมระดับความสมดุลของน้ำในร่างกาย
นักวิทยาศาสตร์พบว่าสารเคมีตัวนี้มีบทบาทในความสัมพันธ์ของคู่รักที่อยู่ ด้วยกันมายาวนาน โดยดูจากผลทดลองในหนู ที่อยู่ในทุ่งหญ้าแพรรี่ เมื่อหนูนาเพศผู้ได้รับยาที่ลดฮอร์โมนวาโวเพรสซิน ทำให้ความรู้สึกผูกพันธ์ที่มีต่อคู่ของมันลดลงทันทีทันใด เนื่องจากพวกมันได้สูญเสียความต้องการที่จะเสียสละเพื่อคู่ของมัน และไม่หึงหวงคู่ของมันจากหนูนาเพศผู้ตัวอื่น
ฮอร์โมน Oxytocin เป็นฮอร์โมนที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกและระหว่างคู่ครอง ดังนั้นมันจึงได้ชื่อว่าเป็น "ฮอร์โมนแห่งความรัก" แต่ความรักก็มีด้านมืด เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่า Oxytocin ยังไปมีผลกระตุ้นให้คนเกิดความคลั่งชาติ คลั่งเผ่าพันธุ์ ได้ด้วย จนในที่สุดอาจจะลุกลามไปจนถึงการเหยียดเผ่าพันธุ์หรือชนชาติอื่น, อคติ, และความรุนแรง
นักจิตวิทยา Carsten de Dreu แห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ได้ทำการทดลองทั้งหมด 5 ชุดกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชายชาวดัตช์ (ชาวเนเธอร์แลนด์) จำนวน 280 คน แล้วได้สรุปผลการทดลองว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับ Oxytocin จะมีความรู้สึกรักและผูกพันกับคนที่มีชนชาติดัตช์เหมือนกันมากกว่าชาวต่าง ชาติ
ตัวอย่างเช่น เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างคำที่มีความหมายในแง่บวก หรือในแง่ลบกับชื่อของคนเชื้อชาติต่างๆ (เช่น ชื่อดัตช์ ชื่ออาหรับ ชื่อเยอรมัน เป็นต้น) กลุ่มตัวอย่างที่ได้ดมสเปรย์ที่มี Oxytocin สามารถจับคู่คำที่มีความหมายในแง่บวกกับชื่อชาวดัตช์ได้เร็วกว่ากลุ่ม ตัวอย่างที่ดมยาปลอม (placebo) อย่างมีนัยสำคัญ
หรือในการทดลองที่สมมติให้กลุ่มตัวอย่างเลือกว่าจะช่วยชีวิตคน 5 คนโดยต้องยอมเสียสละคนใดคนหนึ่งในห้าคนนั้น คนในตัวอย่างสมมติมีทั้งชื่อที่เป็นชาวดัตช์และชื่อของชาวต่างชาติรวมๆ คละๆ กันอยู่ กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับ Oxytocin ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกเสียสละชีวิตชาวต่างชาติเพื่อปกป้องชีวิตของคนที่มี ชื่อดัตช์เหมือนกันมากกว่า
นักวิทยาศาสตร์หลายท่านเชื่อว่าผลการทดลองนี้สมเหตุสมผลพอสมควร เพราะแม้ว่า Oxytocin จะเป็นฮอร์โมนที่ทำให้สัตว์สังคมเชื่อใจกันและผูกพันกัน แต่มันก็มีผลกระตุ้นให้สัตว์มีพฤติกรรมก้าวร้าวในการปกป้องอาณาเขตหรือปก ป้องลูกอ่อนด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอันหนึ่งที่คาใจนักวิจัยก็คือ "ทำไมบางคนและบางครั้ง Oxytocin ก็ไม่กระตุ้นให้เกิดอคติรักเผ่าพันธุ์พวกพ้องได้" มันอาจจะมีสภาวการณ์เฉพาะอะไรสักอย่างในการกระตุ้นให้เกิดด้านมืดของ Oxytocin ในจิตใจมนุษย์ก็เป็นได้