วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

นมแม่และฮอร์โมนอ๊อกซิโทซิน : การสร้าง "ความเป็นแม่"


เขียนโดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

คุณแม่คะ...เคยสังเกตไหมคะว่า ทำไมเวลาอุ้มกอดลูกเพื่อให้ลูกดูดนมแม่ จะรู้สึกว่าลูกดูน่ารักเหลือเกิน อยากจะกอดกันอย่างมีความสุขอย่างนี้ให้นานที่สุด นี่เป็นผลจากฮอร์โมน อ๊อกซิโทซินค่ะ
อ๊อกซิโทซิน : วิถีธรรมชาติเพื่อสร้าง "ความเป็นแม่"

ในช่วงตั้งครรภ์ร่างกายและสมองของคุณแม่จะมีการเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อ ฮอร์โมนแห่งความเป็นแม่นี้ ในช่วงขณะคลอดตามธรรมชาติ ระดับฮอร์โมนนี้ จะขึ้นสู่ระดับสูงทั้งในแม่และลูก ทำให้แม่คุ้นเคยกับกลิ่นลูก อยากอยู่ใกล้ๆลูก ลูกก็จะผ่อนคลาย และชอบที่จะเข้าหากลิ่นของแม่ ช่วงหลังคลอดใหม่ๆนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่แม่ลูกจะได้พบกัน และเริ่มการให้นมแม่ค่ะ
เกิดอะไรขณะให้นม
ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการให้นม มี 2 ชนิด คือ โพรแลคตินและออกซีโทซิน เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้าง การผลิต และการให้นมแม่ค่ะ ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ผลิตจากต่อมใต้สมอง คือ ต่อมพิทูอิตารี โดยโปรแลคตินถูกสร้างจากต่อมส่วนหน้า ส่วนออกซีโตซินผลิตจากส่วนหลังของต่อมเดียวกัน
โพรแลคติน จะถูกกระตุ้นให้หลั่งเพิ่มขึ้นเมื่อทารกดูดนมแม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างน้ำนมขึ้นในต่อมน้ำนม โพรแลคตินจะขึ้นสูงค้างอยู่หลังจากลูกดูดนม นานประมาณ 30 นาที แล้วก็จะตกลง หากลูกไม่ได้ดูดนมต่อเนื่องบ่อยๆ สมองก็จะไม่ผลิตโพรแลคตินออกมาอีก น้ำนมก็จะผลิตออกมาน้อยตามไปด้วยค่ะ นี่คือเหตุผลที่จะต้องให้ลูกดูดนมแม่กันบ่อยแทบจะตลอดเวลาในช่วง1-3 วันแรกนี้โดยไม่ต้องให้นมอื่นเสริม
ออกซีโทซิน หรือ cuddle hormone (การกอด) หรือ bonding hormone (ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความรักความผูกพัน) จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงใกล้คลอด และหลังจากคลอดแล้วออกซีโทซินก็จะไปกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมของความเป็นแม่ ค่ะ
ทุกครั้งที่ลูกดูดนมแม่ สมองจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความรักความผูกพันระหว่างคุณแม่และลูกน้อยเพิ่มมากขึ้น และลูกก็จะได้รับออกซีโทซินจากนมแม่โดยตรงด้วยค่ะ เพราะในน้ำนมแม่มีฮอร์โมนชนิดนี้อยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกผูกพันกับคุณแม่
นอกจากนั้น ออกซีโทซินยังทำให้เกิดการหลั่งน้ำนมด้วย คือ การที่คุณแม่มีน้ำนมพุ่งออกมาจากเต้า เพราะออกซีโทซินกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเล็กๆ ที่อยู่รอบๆ ต่อมน้ำนม และกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่พันอยู่รอบๆ ท่อน้ำนมมีการบีบตัว ทำให้น้ำนมไหลไปสู่ลูกอย่างต่อเนื่องค่ะ
อารมณ์ดี...น้ำนมไหลดี
ฮอร์โมนออกซีโทซินจะไวต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่มากค่ะ หากคุณแม่รู้สึก เครียด กังวล เกิดความกลัว หรือเหนื่อยอ่อนจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้สมองผลิตฮอร์โมนชนิดนี้น้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงไปด้วยเช่นกันค่ะ
ในทางตรงข้าม สิ่งที่ทำให้ฮอร์โมนนี้หลั่งได้ดีขึ้น ก็คือจิตใจที่มีความสุขของแม่เองค่ะ คุณแม่บางคนแค่คิดถึงหรือได้กลิ่นลูกฮอร์โมนหลั่งออกมาได้เลย อย่างเช่นคุณแม่บางคนเวลาจะปั๊มนมจะต้องเอาผ้าที่ลูกเคยใช้ไปนั่งดม พอได้กลิ่นลูกก็มีความสุข น้ำนมก็ออก บางคนเอารูปลูกไปดูก็มีความสุข น้ำนมก็ออกเช่นกัน
ดังนั้น หากต้องการให้ฮอร์โมนหลั่งดี น้ำนมมาในปริมาณมาก คุณแม่ก็ต้องทำใจให้สบาย ไม่เครียด เพราะถ้าเครียดน้ำนมก็จะยิ่งน้อยค่ะ
การให้นมแม่จะเป็นไปตามธรรมชาติค่ะ ลูกร้องไห้หิวนมก็ให้กินนม กินแล้วก็นอน พอร้องใหม่ก็ให้กินใหม่ ลูกนอนหลับก็นอนด้วย ตื่นขึ้นมาหิวก็กินใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนแรกซึ่งแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเด็กในช่วงเดือนแรกต้องการอยู่กับคุณแม่เท่านั้นค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น